วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

นวัตกรรม พัฒนาสมองแบบ Shichida’s method


ปุจฉา:  พัฒนาการทางสมองที่ดีที่สุดของมนุษย์อยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่?

วิสัชนา : ช่วงที่สมองของคนเราจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว คือ ช่วงอายุ 0-3 ปี และพัฒนาต่อไปได้จนถึง 12 ปี และช้าลงเรื่อย ๆ (จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมตอนนี้หลาย ๆ คน จึงรู้สึกว่า "ทำไมสมองช้าจัง แสดงว่าอยู่ในวัยที่สมองใกล้จะหยุดพัฒนาแล้ว) 

(ถามเองตอบเอง เพราะเขียนอยู่คนเดียว)



แล้วเกี่ยวอะไรกับ  Shichida’s method ? 
             เกี่ยวข้องโดยตรงเลยหละ เพราะนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะกล่าวถึงในวันนี้คือ กระบวนการเรียนรู้แบบใช้สมองโดยรวม (Whole Brain Education) แบบ Shichida'da method 
             แต่อันดับแรกเราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของเราก่อน

พัฒนาการทางสมอง
             พัฒนาการทางสมองนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก พัฒนาการทางสมองของเด็กนั้นเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ 2 อาทิตย์ จะเริ่มมีกลุ่มเซลล์ที่จะมีหน้าที่พัฒนาต่อไปเป็นสมอง เมื่อเด็กแรกคลอดนั้นจะมีจำนวนเซลล์สมองที่มากพอที่จะทำหน้าที่ให้เด็กมีชีวิตอยู่รอดได้ เช่น เซลล์สมองที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจ การหายใจ การทำงานของลำไส้ ความรู้สึกในเรื่องของอุณหภูมิ หรือการปรับตัวบางอย่างก็เริ่มทำงานแล้ว 

             ในขณะเดียวกันก็จะมีเซลล์สมองจำนวนมากที่มีพร้อมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการกระตุ้นให้เกิดการทำงาน เช่น เซลล์สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องของภาษา ก็มีตั้งแต่แรกเกิด เพียงแต่ว่ายังไม่มีความพร้อมในการทำงาน พัฒนาการทางสมองของเด็ก จะเติบโตอย่างรวดเร็วมากใน 3 ปีแรก และยังพัฒนาต่อไปจนถึง 12 ปี แต่หลังจากอายุ 12 ปีไปแล้ว จะมีการพัฒนาอย่างช้า ๆ ไปจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่จนอายุ 25 ปี หลังจากนั้นการทำงานของสมองหรือพัฒนาการทางสมองก็อาจจะหยุด แต่มิได้แปลว่าหยุดการทำงาน เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีการเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าหากว่ายังมีการเรียนรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ ก็ยังคงมีพัฒนาการในทางด้านสมองเติบโตต่อไปได้ 

การเรียนรู้ของสมอง
             สมองซีกซ้ายและซีกขวามีลำดับการพัฒนาการที่แตกต่างกัน ในช่วงแรกเกิดถึงอายุสามปีสมองซีกขวา จะทำหน้าที่เป็นหลัก สมองซีกขวาจะใช้สัญชาตญาณการเรียนรู้แบบรูปภาพเป็นตัวดำเนินการคิด ซึ่งหมายความว่าสิ่งต่างๆที่เห็นหรือได้ยินแค่เพียงครั้งเดียวก็จะถูกจดจำและสร้างขึ้นใหม่เป็นรูปภาพในความรู้สึกนึกคิดได้ เมื่ออายุประมาณสามปีความนึกคิดเชิงตรรกะและเชิงภาษาจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งสมองที่ทำหน้าที่หลักจะเปลี่ยนจากซีกขวาเป็นซีกซ้าย และเมื่ออายุได้หกปี กระบวนการความคิดจะเปลี่ยนเป็นความนึกคิดเชิงภาษาเป็นหลัก นี่คือเหตุผลว่าทำไมความสามารถในการ เรียนรู้ของผู้ใหญ่จึงมีขีดจำกัดมาก ดร.โยชิยาชินากาว่านักสรีรวิทยาทางสมองผู้มีชื่อเสียงในงานวิจัยของสมองซีกขวาอธิบายไว้ว่า อัตราการเรียนรู้ของสมองซีกซ้ายต่อซีกขวานั้นต่างกันหนึ่งต่อหนึ่งล้านซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย อย่างยิ่งที่มีกลไกป้องกันไม่ให้เราใช้วงจรสมองซีกขวาได้อย่างสม่ำเสมอ 
         

สอนแบบ Shichida’s method                              

             ศาสตราจารย์ ดร.ชิจิดะ มาโกโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองชาวญี่ปุ่น นักวิจัยอีกผู้หนึ่งที่ค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของสมองอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี เขาค้นพบว่า หากฝึกให้สมองทั้งสองซีกทำงานได้พร้อม ๆ กัน จะทำให้มนุษย์คนนั้นสามารถดึงความเป็นอัจฉริยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และจะดียิ่งขึ้น ถ้าสามารถฝึกสมองทั้งสองซีกได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 0 – 6 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการรวดเร็วถึงขีดสุด
             วัตถุประสงค์ของการศึกษาแนวชิจิดะไม่ใช่เพื่อมุ่งเน้นแต่การให้ความรู้และทักษะ แต่เพื่อสร้างเด็กให้มีความสมดุลและเต็มไปด้วยความสามารถมากมาย มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถใช้สมองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ต่อเมื่อเด็กไม่มีความกังวลและมีความสัมพันธ์อันดีกับพ่อแม่            
ชิจิดะ             ดร.ชิจิดะ จึงริเริ่มแนวทางการสอนสไตล์ “ชิจิดะ” โดยฝึกสมองทั้งสองซีกให้ทำงานร่วมกัน และกระตุ้นให้สมองทุกส่วนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการเชื่่อมต่อของใยประสาทของสมองทั้งสองข้าง โดยกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไป อาทิตย์หนึ่ง ๆ ใช้เวลาฝึกประมาณ 1 ชั่วโมง ๆ ละ 15 – 20 กิจกรรม เช่นการใช้แฟลชการ์ดที่มีการสลับภาพให้ดูอย่างรวดเร็ว หรือการใช้สื่อการสอนที่กระตุ้นด้านความทรงจำของเด็ก รวมถึงฝึกจินตนาการในการคิดและการสร้างสรรค์โดยอิงจากเรื่องราวในชีวิตจริงที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการฝึกสมองซีกขวา

ตัวอย่างการสอนแบบ Shichida's method 



หลักการ
1. ต้องเห็นได้ชัด
2. สอนต่อครั้ง 10-30 ใบ
3. ดึงจากข้างหลังมาข้างหน้า
4. ใบละไม่เกิน 1วินาที
5. ระวังนิ้วปิดโดนรูปหรือตัวอักษร




             
หลักการ : การจำภาพและตัวหนังสือผ่านบทเพลง


 ผลการสอนแบบ Shichida’s method 

          การสอนแบบ Shichida's method เป็นการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมให้สมองซีกซ้ายและขวาทำงานร่วมกันอย่างสมดุล และทำการสอนที่เป็นไปตามพัฒนาการของวัยและเน้นพัฒนาในช่วงวัยทองของเด็ก ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สมองสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อผู้เรียนได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาษา ความคิดสร้างสรรค์ หรือทางด้านตัวเลข ที่สูงกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ดังคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร. มาโกโตะ ชิจิดะที่กล่าวว่า  “เป้าหมายของการศึกษาในอนาคตจะไม่ใช่เพื่อสร้างคนที่เต็มไปด้วยความรู้ในหัว แต่เพื่อเลี้ยงดูเด็กที่รู้วิธีใช้สมองทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ การอบรมสั่งสอนเด็กที่เต็มไปด้วยความสามารถ มีความคิด สร้างสรรค์ และสามารถใช้ประโยชน์จากสมองส่วนใหญ่ ได้จึงควรเป็นเป้าหมายของการเลี้ยงดูเด็ก”


แง่คิดส่งท้าย Shichida’s method กับกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ของไทย

          1. Shichida’s method หรือการเรียนรู้แบบใช้สมองโดยรวม (Whole Brain Education) แม้จะเป็น กระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองแค่ไหนก็ตาม แต่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลโรงเรียนสังกัด สพฐ. ของไทย ก็ไม่ได้ใช้ ถึงแม้ว่าหลักสูตรจะเขียนไว้อย่างดี แต่กลับไม่มีอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ (ของเล่นก็น้อยนิด ถ้าเทียบกับจำนวนเด็ก)
          2. Shichida’s method มีเฉพาะโรงเรียนเอกชน ค่าใช้จ่ายสูง และอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำไมเด็กในเมืองใหญ่จึงฉลาดกว่าเด็กบ้านนอก
         3. ผู้ปกครองให้นิยามคำว่า "เก่ง" แตกต่างกัน เพราะผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ. มักนิยามคำว่าเก่งของลูก คือ การสอบได้ที่ 1 ไม่ใช่มีพัฒนาการที่สมบูรณ์
         4. การสอนแบบใดก็ตามที่เป็นการสอนที่เป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก มักจะเกิดขึ้นในโรงเรียนทางเลือกเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นโรงเรียนเอกชน
         5. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่านี้ การทุ่มทุนสร้างคน แม้ต้องใช้ระยะเวลานาน แต่สิ่งที่ได้มาคุ้มค่ายิ่งนัก และประเทศไทยใช่ว่าจะเป็นประเทศยากจน เพราะสังเกตจากมูลค่าของการคอรัปชั่นมีสูงกว่าแสนล้านบาท ถ้าเทียบเป็นปริมาณก็สร้างโรงเรียนเพิ่มได้อีกเพียบ


วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาคมอาเซียนส่งกระทบต่อการจัดการศึกษาของไทย

ประชาคมอาเซียนส่งกระทบต่อการจัดการศึกษาของไทยในระดับบัณฑิตศึกษา
และส่งผลกระทบต่อตัวท่านอย่างไร

             การทำเข้าใจความเป็นมาเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน จะทำให้สามารถเข้าใจบริบทอื่น ๆ ของอาเซีย ซึ่งรวมถึงหัวหัวการจัดการศึกษาของไทย  ดังนัินจึงมีวิดีโอสั้น ๆ แนะนำอาเซียน (English version)  ภาษาไทยก็มีค่ะ แต่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักที่ใช้ในประชาคมอาเซียน เราจึงควรฝึกภาษาอังกฤษไว้นะคะ         


ถ้าเปิดไม่ได้ให้ไปที่ : http://www.youtube.com/watch?v=XYFp0amicLY&feature=related

             การรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประชาคมอาเซียน มีการร่วมมือแบบ "One Vision, One Identity, One Community" วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว แน่นอนว่าเรื่องการศึกษาก็เป็นอีกเรื่องที่ได้รับผลกระทบต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน     แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีนโยบายของตนเอง แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับประเทศสมาชิกเพื่อเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกระดับการศึกษา  ในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งหมายถึงผู้เรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ย่อมได้รับผลกระทบและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้อง ทั้งในด้านสถาบัน        การศึกษา ทักษะของผู้สอน ทักษะของผู้เรียน โดยเฉพาะผู้เรียนต้องมีการตื่นตัวและเตรียมตนเองให้พร้อมในการเป็นส่วนหนี่งประชาคมอาเซียน

             การสำรวจความตระหนักรู้ของเยาวชนเกี่ยวกับอาเซียน โดยสำรวจจากจำนวนนักศึกษา 2,170 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ผลสำรวจปรากฏว่า "ประเทศไทยอยู่ในอับดับที่ 8" ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่านักศึกษาไทยตระหนักในเรื่องนี้น้อยมาก ขาดการ เตรียมการที่ดี ขาดการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์อนาคต แม้จะรับรู้เรื่องเกี่ยวกับอาเซียนบ้างตามสื่อต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้สนใจว่ามีผลกระทบต่อตนเองอย่างไร ไม่ใส่ใจที่จะเตรียมตัว คิดว่าเมื่อถึงเวลาก็ต้องสามารถปรับตัวได้ แต่หารู้ไม่ว่าวิธีคิดดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยจะพัฒนาช้ากว่าประเทศสมาชิกอื่น ๆ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว การจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งล้วนเป็นปัญญาชนที่จะต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยน ย่อมต้องตื่นตัวและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงก่อนใคร ๆ ในทุก ๆ ด้าน


             ด้านสถาบันการศึกษาและบุคลาการทางการศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.)ได้มีการกำหนด ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558 สรุปความได้ว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา ผ่านการพัฒนาหลักสูตร พัฒนางานวิชาการ พัฒนาอาจารย์ พัฒนาโครงสร้าง พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างความเป็นเลิศด้านงานวิจัย เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.)  กำหนดยุทธศาสตร์แล้ว มหาวิทยาก็ต้องนำมาปรับปรุงสถาบันของตน เช่น ส่งเสริมให้ใช้ภาษาอังกฤษ เปิดหลักสูตรการสอนภาษาประเทศสมาชิก อำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติ ส่งเสริมจุดแข็งของความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย การท่องเที่ยวไทย แพทย์แผนไทย และสำคัญที่สุดภาษาไทย

             ด้านผู้เรียนซึ่งจะกล่าวถึงในระดับบัณฑิตศึกษา ผู้เรียนในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นผู้เรียนที่ได้ผ่านการเรียนรู้ การขัดเกลา ทางด้านอารมณ์ สังคม มีคุณวุฒิมากกว่าในระดับอื่น เมื่อประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่อาเซียน การเปลี่ยนการศึกษาที่เคยศึกษาเฉพาะเรื่องของประเทศเราเป็นศึกษาเพื่อ "รู้เขารู้เรา" คือ ศึกษาปัจจัยที่ครอบคลุมหรือเกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิก  อีกทั้งยังต้องพัฒนาทักษะซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยึดหลักจริยธรรมและการอยู่อย่างยั่งยืน หรือดังที่ สุชาดา กีระนันทน์,2555 ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตต้องมีทักษะอย่างน้อย คือ 
             1. มีความรู้อย่างลึกซึ้งในสาขาวิชานั้นๆ โดยจะต้องสามารถสร้างความรู้ใหม่และพัฒนานวัตกรรมได้ เพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นบุคลากรที่สำคัญและมีความจำเป็นของหน่วยงานนั้น
             2. มีความสามารถปรับเปลี่ยนงานใหม่ในสาขาที่ใกล้เคียงได้ เพื่อที่จะมีโอกาสในการหางานได้มากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสร้างความรู้ใหม่ เช่น มีพื้นฐานที่ดีทางคณิตศาสตร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร การเรียนรู้ด้วยตนเอง
             3. มีความรอบรู้ในข้อมูลพื้นฐานและนิสัยใจคอของกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เนื่องจากบัณฑิตจะต้องใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มคนที่ต่างวัฒนธรรม จึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
             4. มีทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ซึ่งไม่ได้ใช้แค่เพียงภาษาอังกฤษแต่จะต้องสามารถเข้าใจภาษาในกลุ่มอาเซียนด้วยกันด้วย (*เรื่องน่ารู้ สถาบันภาษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำรวจพบว่า บัณฑิตประเทศไทย มีคะแนน TOEFL เฉลี่ย 450 คะแนน น้อยกว่าพม่าและกัมพูชาซึ่งมีคะแนน TOEFL เฉลี่ย 500 คะแนน) 
             โดยเฉพาะวิชาที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี 8 วิชาชีพ โดยจะเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2558 คือ 
             1. วิศวกรรม (Engineering Services) 
             2. พยาบาล (Nursing Services) 
             3. สถาปัตยกรรม (Architectural Services) 
             4. การสำรวจ (Surveying Qualifications) 
             5. แพทย์ (Medical Practitioners) 
             6. ทันตแพทย์ (Dental Practitioners) 
             7. บัญชี (Accountancy Services)
             8. วิชาชีพด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว (hotel services and tourism)

             บางคนอาจคิดว่าการเปลี่ยนแปลงประชาคมอาเซียนคงไม่ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ความจริงแล้ว ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเราโดย ลองคิดดูว่าในปี 2558 มีการไหลลื่นของคนและวัฒนธรรมสะดวกขึ้น แต่เราไม่เคยได้เตรียมตัวอะไร จะเกิดอะไรขึ้น พูดกับคนอื่นไม่เข้าใจ ใช้ชีวิตในสังคมอย่างอยากลำบากแน่นอน ดังนั้นทักษะที่ตนเองคิดว่าต้องพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างแรก คือ ทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นคนหนึ่่งที่ได้ฉุดคะแนนเฉลี่ย TOEFL ของประเทศไทยให้ต่ำลง เพื่อจะสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น ทำการศึกษาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ประเทศสมาชิกให้เข้าใจ แต่ก็ไม่ลืมที่จะพูดภาษาไทยให้ชัดเจน ดำรงวัฒนธรรมไทย รับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติและวิจารณญาณ

             อย่างไรก็ตามแม้การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน จำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่สากล แต่สิ่งที่เหล่าบัณฑิตไทย ต้องตระหนักถึงมากที่สุดคือความเป็นไทย ต้องไม่ลืมที่จะ พูด เขียน ภาษาไทยให้ถูกต้อง รักษาวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และไม่ลืมที่จะเผยแพร่อัตลักษณ์ของความเป็นไทยแก่ชาวต่างชาติ

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศมีผลต่อกระบวนทัศน์ทางการศึกษาอย่างไร และส่งผลกระทบต่อตัวท่านในฐานะนักการศึกษาอย่างไร


    สังคมโลกาภิวัตน์(globalization) อันเป็นสังคมสารสนเทศ มีการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม เชื่อมโยงการสื่อสารอย่างทั่วถึงโดยมีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นตัวกลาง มีการรับและถ่ายทอดทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือการศึกษา อย่างไร้ขอบเขต ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการหนึ่งของประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมส่งผลอย่างกว้างขวางต่อประเทศอื่น ๆ เปรียบเสมือนคำกล่าวที่ว่า แค่ผีเสื้อกระพือปีกก็สะเทือนทั้งดวงดาว การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนทัศน์ทางการศึกษา       ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศถูกยกให้เป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็น    ต้องมี ไม่ว่าจะในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือคุณลักษณะของเด็กในสังคมอาเซียน ล้วนต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโยด้วยกันทั้งสิ้น            
            กรณีศึกษาที่น่าสนใจที่เห็นได้ชัดว่ากระบวนทัศน์ทางการศึกษาได้มีการปรับเปลี่ยนโดยให้ความสำคัญในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างมาก นั่นก็คือนโยบายด้านการจัดการศึกษาของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ด้านการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยรัฐบาลเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้มีระบบ       การเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีพ ที่สามารถส่งความรู้มายังผู้เรียนโดยระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ส่งเสริมให้นักเรียนทุกระดับชั้นใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา (Tablet)  ตามแนวนโยบายถือว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะจะทำให้นักเรียนมีความเท่าเทียมกันในการศึกษามากขึ้น  แต่ในฐานะที่เคยสัมผัสกับผู้เรียนในโรงเรียนทำให้พบว่า ก่อนที่จะให้นักเรียนใช้แท็บเล็ต ควรให้นักเรียนฝึกการอ่านออก เขียนได้ (โดยเฉพาะนักเรียน      ในระดับประถมศึกษาตอนต้น พบว่าปัจจุบันเกิดปัญหานักเรียนมีกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง เพราะขาดการฝึกขียนเพิ่มมากขึ้น) ใช้ภาษาให้ถูกต้อง และที่สำคัญสอนให้รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้ถูกทาง
                   ในฐานะนักการศึกษาในสังคมสารสนเทศ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักการศึกษาควรรู้เท่าทันเทคโนโลยี และสามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในข้อมูลข่าวสารที่ได้รับอย่างมีวิจารณญาณและยุติธรรม อีกทั้งสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์เพื่อพัฒนการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก   



   

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เรื่องนี้...ยังไม่มีตอนจบ(ภาคแรก)

     ชีวิตคือการต่อสู้...งั้นหรือ  นั่นมันชีวิตของคนอื่น ส่วนชีวิตฉันไม่เคยคิดจะไปต่อสู้หรือแข่งขันกับใคร แต่บางครั้งมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม
     จะไม่ให้คิดแบบนี้ได้อย่างไร เริ่มตั้งแต่ลืมตาดูโลก ในวันที่ 11 มกราคม 2528 ผ่านมากี่ปีแล้วก็บวกลบกันเอง ก็ต้องต่อสู้ซะแล้ว ต่อสู้กับอะไร ถ้าจะเรียกว่าต่อสู้ก็คงไม่เชิงน่าจะเรียกว่า "แข่ง" มากกว่า แข่งกับเวลานั่นเอง เวลาที่พ่อต้องรีบพาแม่ไปโรงพยาบาล ยังไม่ถึงกำหนดคลอดฉันก็อยากจะหมุดออกมาดูข้างนอกซะแล้ว จะไม่ให้พ่อต้องรีบได้อย่างไรในเมื่อบ้านอยู่กาฬสินธุ์ แต่แม่ไปฝากครรภ์ที่จังหวัดขอนแก่น และในที่สุดก็ไม่ทันค่ะ ฉันคลอดที่โรงพยาบาลยางตลาด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอของบ้านฉันเอง 
      เมื่อฉันลืมตาดูโลก ที่บ้านฉันเกิดความวุ่นวายกันใหญ่  เรื่องชื่อค่ะ แม่เล่าว่าที่บ้านทุ่มเถียงกันใหญ่ เรื่องชื่อ สุดท้าย ฉันก็มีชื่อว่า "สุกัญญา" ที่หมายถึง  ผู้หญิงที่ดีงาม ฉันรู้สึกภูมิใจมากกับชื่อของฉัน แม้ว่าฉันจะรู้สึกว่าทำไมคนชื่อนี้เยอะแยะเต็มหมด(มันดูเกลื่อน) แต่ฉันก็ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนชื่อเลยนะ ฉันชอบชื่อนี้ ไม่ใช่เพราะมันไพเราะอะไรหรอก แต่เป็นเพราะเป็นชื่อที่คนที่รักฉันมากที่สุดตั้งให้ยังไงหละ    ส่วนชีวิตในวัยเด็กของฉันก็ไม่แตกต่างกับเด็กผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ชอบเล่นขายของ เล่นกระโดดยาง      (ถ้าสูง ๆ ไม่เคยจะได้กระโดดค่ะ มีคนอาสากระโดดให้ตลอด) เล่นซ่อนหา ฯลฯ อะไรที่เด็ก ๆ เขาเล่นกัน ฉันก็เล่นทั้งนั้น เรียบง่ายจริง ๆ  
      เมื่ออายุยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าเรียน ฉันก็ไปโรงเรียนซะแล้ว ก็พ่อ แม่ เป็นครูค่ะ เลยได้เข้าเรียนก่อนใคร เรียนอนุบาลอยู่หลายปีทีเดียว คือแม่สอนอนุบาล แม่ก็ให้ไปเรียนด้วย แต่ไม่ยอมให้ขึ้นชั้นประถม เพราะเกิดเหตุการณ์ที่ฉันจำไปจนวันตาย ฉันว่า ฉันก็ไม่ได้เป็นเด็กดื้อ เด็กซนเลยนะ แต่อยู่ดี ดี ชั้นก็ขึ้นไปปีนหน้าต่างเล่นค่ะ ได้เรื่องทันที ตกหน้าต่าง(โชคยังดีแค่ชั้นหนึ่ง) ลงมานอนหงายอยู่บนทางเดิน แม้จะยังเป็นแค่เด็กอนุบาล แต่ฉันยังรู้สึกรักศักดิ์ของตนเอง ทำให้จิตไร้สำนึกของฉันสั่งให้ฉันพูดกับคนที่เดินผ่านมาเห็นฉันนอนอยู่ที่พื้นทางเดิน "มองทำไม ไม่มีอะไรซักหน่อย" แล้วก็ลุกขึ้นเดินค่ะ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่รู้สึกเจ็บและอายมาก แต่พอเจอคนรู้จักเท่านั้นค่ะ ร้องไห้หาแม่ทันที หัวแตกนี่ค่ะ ทั้งเจ็บ ทั้งมึน ต้องนอนโรงพยาบาล ต้องสแกนสมอง และรักษาอีกมากมาย กว่าฉันจะรู้สึกว่าโลกมีแรงดึงดูดเท่าเดิม (ก็ตอนนั้นฉันเห็นโลกหมุนตลอดเวลา แถมยังไม่มีแรงยึดเหนี่ยวให้ฉันยืนตรง ๆ ได้อีกนี่นา) จากเหตุการณ์วันนั้นทำให้ฉันต้องเรียนอนุบาลรอเพื่อน ๆ ที่เกิดปีเดียวกันอยู่หลายปีทีเดียว เพราะแม่กลัวว่าฉันจะเรียนไม่ทันเพื่อน หลังจากที่สมองโดนกระทบกระเทือนในครั้งนั้น
      เมื่อฉันอยู่ประถม ฉันก็มีความฝันเหมือนเด็ก ๆ พอเริ่มอ่านหนังสือได้ พ่อกับแม่ก็ซื้อหนังสือนิทาน หรือวรรณกรรมเยาวชน มาให้ฉันอ่าน ฉันชอบอ่านหนังสือมากและมันทำให้ฉันชอบจินตนาการไปตามหนังสือ ทำให้ความฝันแรกที่ฉันอยากเป็น คือ ฉันอยากเป็นแดร็กคูล่า ฉันชอบส่องกระจกดูว่า รอยที่คอของฉันต้องเป็นรอยที่โดนกัด(ฉันมีไฝสองเม็ดเรียงกันจนดูเหมือนรอยเขี้ยว) หรือยิงฟันดูว่าเคี้ยวยาวขึ้นหรือยัง(ฟันบน 2 ซี่ ของฉันมีรูปร่างผิดปกติที่ดูเหมือนเขี้ยว) มันช่างประจวบเหมาะอะไรเช่นนี้  ฉันคิดว่า ฉันไม่ใช่เด็กประหลาดอะไร ใคร ๆ ก็ต้องมีสิ่งที่ตนประทับใจ เหมือนเด็ก ๆ บางคนยังอยากจะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่เลย แค่ซุปเปอร์ฮีโร่ของฉันคือแดร็กคูล่าเท่านั้นเอง 
       อาชีพในฝันของฉันหละ คือ อาชีพอะไร แม้ปัจจุบันฉันจะมีอาชีพครู แต่ตอนเด็ก ๆ ฉันไม่เคยคิดอยากเป็นครูเลย ก็พ่อและแม่ของฉันเป็นครูทั้งสองคนและทำงานหนักมาก และฉันก็ไปโรงเรียนกับพ่อและแม่ตลอด ทำให้ไม่นึกอยากเป็นครูเอาซะเลย เมื่อคุณครูประจำชั้นป. 2 ของฉัน ได้ถามนักเรียนในห้องว่า  โตขึ้นอยากเป็นอะไร (ฉันคงไม่ตอบหรอกว่าฉันอยากเป็นแดร็กคูล่า เพราะมันเป็นความลับที่รู้เฉพาะ ฉันและน้องสาวคนเดียวของฉัน) เพื่อน ๆ ก็ตอบกันไป บ้างก็อยากเป็นครู เป็นหมอ เป็นทหาร เป็นตำรวจ แล้วฉันหละ เด็กช่างจินตนาการอย่างฉันมีรึจะตอบเหมือนคนอื่น อาชีพที่ฉันใฝ่ฝัน คือ...นักบินอวกาศ ค่ะ เมื่อครูถามจนมาถึงฉัน ฉันก็ตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า อยากเป็นนักบินอวกาศ ทุกคนในห้องต่างหันมามองหน้าฉัน แต่พวกเขาคงไม่แปลกใจสักเท่าไหร่ เพราะกระเป๋าของฉันก็เป็นรูปนักบินอวกาศ รองเท้าก็มีรูปยานอวกาศเปรียบได้กับเด็กสมัยนี้ที่คลั่งไคล้เบนเท็นนั่นเอง 
      ชีวิตวัยเด็กของฉันผ่านไปแบบเด็กช่างฝันที่ชอบทำอะไรตามหนังสือที่ฉันอ่าน กล้าแสดงออกในสิ่งที่อยากทำ ทุกครั้งที่ครูให้มาสมัครร้องเพลง ฉันไม่อายที่จะเดินออกไปร้องเพลงให้ทุกคนฟัง แม้จะชอบหรือไม่ชอบเสียงของฉันก็ตาม แต่พอเข้าสู่วัยรุ่นกลับตรงกันข้าม ฉันกลายเป็นเด็กขี้อาย ชอบเก็บตัว ชอบอยู่กับตัวเอา ไม่อยากให้ใครมาสนใจ อยากใส่แว่นเพื่อจะได้เป็นเกราะที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าจะไม่มีใครมาวุ่นวายกับฉัน ในที่สุดความพยายามที่จะได้ใส่ของฉันก็สำเร็จ ฉันพยายามอ่านหนังสือจากโคมไฟหัวเตียง พยายามมองแสงไฟนาน ๆ จนในที่สุดฉันก็กลายเป็นคนแพ้แสงและสายตาสั้น ตอนนั้นฉันดีใจมาก แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกว่า ฉันคิดผิด เพราะโตขึ้นฉันไม่ชอบใส่แว่นเลย (ตอนนั้นยังไม่กลัวไม่สวย) ชีวิตในวัยรุ่นของอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในโลกของฉัน แต่ก็ไม่ใช่จะไร้เพื่อน ฉันมีเพื่อน ๆ ดีดี มากมาย ที่เข้าใจฉัน และยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจนถึงทุกวันนี้
      เรื่องนี้ของฉันยังมีตอนต่อไป...จากเด็กช่างจินตนาการ ชอบเก็บตัว พอเข้าสู้รั้วมหาวิทยาลัยและวัยทำงาน จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของฉัน จากชีวิตที่เหมือนวรรณกรรมเยาวชนสู่ละครน้ำเน่าช่อง 7 หน้ามือเป็นหลังมือโดยแท้ ถ้าจะเปรียบกับการมวย ก็เหมือนกับฟลายเวทสู่เฮฟวี่เวท เลยทีเดียว