ปุจฉา: พัฒนาการทางสมองที่ดีที่สุดของมนุษย์อยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่?
วิสัชนา : ช่วงที่สมองของคนเราจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว คือ ช่วงอายุ 0-3 ปี และพัฒนาต่อไปได้จนถึง 12 ปี และช้าลงเรื่อย ๆ (จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมตอนนี้หลาย ๆ คน จึงรู้สึกว่า "ทำไมสมองช้าจัง แสดงว่าอยู่ในวัยที่สมองใกล้จะหยุดพัฒนาแล้ว)
(ถามเองตอบเอง เพราะเขียนอยู่คนเดียว)
แล้วเกี่ยวอะไรกับ Shichida’s method ?
เกี่ยวข้องโดยตรงเลยหละ เพราะนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะกล่าวถึงในวันนี้คือ กระบวนการเรียนรู้แบบใช้สมองโดยรวม (Whole Brain Education) แบบ Shichida'da method
แต่อันดับแรกเราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของเราก่อน
พัฒนาการทางสมอง
พัฒนาการทางสมองนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก พัฒนาการทางสมองของเด็กนั้นเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ 2 อาทิตย์ จะเริ่มมีกลุ่มเซลล์ที่จะมีหน้าที่พัฒนาต่อไปเป็นสมอง เมื่อเด็กแรกคลอดนั้นจะมีจำนวนเซลล์สมองที่มากพอที่จะทำหน้าที่ให้เด็กมีชีวิตอยู่รอดได้ เช่น เซลล์สมองที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจ การหายใจ การทำงานของลำไส้ ความรู้สึกในเรื่องของอุณหภูมิ หรือการปรับตัวบางอย่างก็เริ่มทำงานแล้ว
ในขณะเดียวกันก็จะมีเซลล์สมองจำนวนมากที่มีพร้อมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการกระตุ้นให้เกิดการทำงาน เช่น เซลล์สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องของภาษา ก็มีตั้งแต่แรกเกิด เพียงแต่ว่ายังไม่มีความพร้อมในการทำงาน พัฒนาการทางสมองของเด็ก จะเติบโตอย่างรวดเร็วมากใน 3 ปีแรก และยังพัฒนาต่อไปจนถึง 12 ปี แต่หลังจากอายุ 12 ปีไปแล้ว จะมีการพัฒนาอย่างช้า ๆ ไปจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่จนอายุ 25 ปี หลังจากนั้นการทำงานของสมองหรือพัฒนาการทางสมองก็อาจจะหยุด แต่มิได้แปลว่าหยุดการทำงาน เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีการเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าหากว่ายังมีการเรียนรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ ก็ยังคงมีพัฒนาการในทางด้านสมองเติบโตต่อไปได้
การเรียนรู้ของสมอง
สมองซีกซ้ายและซีกขวามีลำดับการพัฒนาการที่แตกต่างกัน ในช่วงแรกเกิดถึงอายุสามปีสมองซีกขวา จะทำหน้าที่เป็นหลัก สมองซีกขวาจะใช้สัญชาตญาณการเรียนรู้แบบรูปภาพเป็นตัวดำเนินการคิด ซึ่งหมายความว่าสิ่งต่างๆที่เห็นหรือได้ยินแค่เพียงครั้งเดียวก็จะถูกจดจำและสร้างขึ้นใหม่เป็นรูปภาพในความรู้สึกนึกคิดได้ เมื่ออายุประมาณสามปีความนึกคิดเชิงตรรกะและเชิงภาษาจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งสมองที่ทำหน้าที่หลักจะเปลี่ยนจากซีกขวาเป็นซีกซ้าย และเมื่ออายุได้หกปี กระบวนการความคิดจะเปลี่ยนเป็นความนึกคิดเชิงภาษาเป็นหลัก นี่คือเหตุผลว่าทำไมความสามารถในการ เรียนรู้ของผู้ใหญ่จึงมีขีดจำกัดมาก ดร.โยชิยาชินากาว่านักสรีรวิทยาทางสมองผู้มีชื่อเสียงในงานวิจัยของสมองซีกขวาอธิบายไว้ว่า อัตราการเรียนรู้ของสมองซีกซ้ายต่อซีกขวานั้นต่างกันหนึ่งต่อหนึ่งล้านซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย อย่างยิ่งที่มีกลไกป้องกันไม่ให้เราใช้วงจรสมองซีกขวาได้อย่างสม่ำเสมอ
สอนแบบ Shichida’s method
ศาสตราจารย์ ดร.ชิจิดะ มาโกโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองชาวญี่ปุ่น นักวิจัยอีกผู้หนึ่งที่ค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของสมองอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี เขาค้นพบว่า หากฝึกให้สมองทั้งสองซีกทำงานได้พร้อม ๆ กัน จะทำให้มนุษย์คนนั้นสามารถดึงความเป็นอัจฉริยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และจะดียิ่งขึ้น ถ้าสามารถฝึกสมองทั้งสองซีกได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 0 – 6 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการรวดเร็วถึงขีดสุด
วัตถุประสงค์ของการศึกษาแนวชิจิดะไม่ใช่เพื่อมุ่งเน้นแต่การให้ความรู้และทักษะ แต่เพื่อสร้างเด็กให้มีความสมดุลและเต็มไปด้วยความสามารถมากมาย มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถใช้สมองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ต่อเมื่อเด็กไม่มีความกังวลและมีความสัมพันธ์อันดีกับพ่อแม่
ดร.ชิจิดะ จึงริเริ่มแนวทางการสอนสไตล์ “ชิจิดะ” โดยฝึกสมองทั้งสองซีกให้ทำงานร่วมกัน และกระตุ้นให้สมองทุกส่วนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการเชื่่อมต่อของใยประสาทของสมองทั้งสองข้าง โดยกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไป อาทิตย์หนึ่ง ๆ ใช้เวลาฝึกประมาณ 1 ชั่วโมง ๆ ละ 15 – 20 กิจกรรม เช่นการใช้แฟลชการ์ดที่มีการสลับภาพให้ดูอย่างรวดเร็ว หรือการใช้สื่อการสอนที่กระตุ้นด้านความทรงจำของเด็ก รวมถึงฝึกจินตนาการในการคิดและการสร้างสรรค์โดยอิงจากเรื่องราวในชีวิตจริงที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการฝึกสมองซีกขวา
ตัวอย่างการสอนแบบ Shichida's method
หลักการ
1. ต้องเห็นได้ชัด
2. สอนต่อครั้ง 10-30 ใบ
3. ดึงจากข้างหลังมาข้างหน้า
4. ใบละไม่เกิน 1วินาที
5. ระวังนิ้วปิดโดนรูปหรือตัวอักษร
หลักการ : การจำภาพและตัวหนังสือผ่านบทเพลง
ผลการสอนแบบ Shichida’s method
การสอนแบบ Shichida's method เป็นการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมให้สมองซีกซ้ายและขวาทำงานร่วมกันอย่างสมดุล และทำการสอนที่เป็นไปตามพัฒนาการของวัยและเน้นพัฒนาในช่วงวัยทองของเด็ก ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สมองสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อผู้เรียนได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาษา ความคิดสร้างสรรค์ หรือทางด้านตัวเลข ที่สูงกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ดังคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร. มาโกโตะ ชิจิดะที่กล่าวว่า “เป้าหมายของการศึกษาในอนาคตจะไม่ใช่เพื่อสร้างคนที่เต็มไปด้วยความรู้ในหัว แต่เพื่อเลี้ยงดูเด็กที่รู้วิธีใช้สมองทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ การอบรมสั่งสอนเด็กที่เต็มไปด้วยความสามารถ มีความคิด สร้างสรรค์ และสามารถใช้ประโยชน์จากสมองส่วนใหญ่ ได้จึงควรเป็นเป้าหมายของการเลี้ยงดูเด็ก”
แง่คิดส่งท้าย Shichida’s method กับกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ของไทย
1. Shichida’s method หรือการเรียนรู้แบบใช้สมองโดยรวม (Whole Brain Education) แม้จะเป็น กระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองแค่ไหนก็ตาม แต่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลโรงเรียนสังกัด สพฐ. ของไทย ก็ไม่ได้ใช้ ถึงแม้ว่าหลักสูตรจะเขียนไว้อย่างดี แต่กลับไม่มีอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ (ของเล่นก็น้อยนิด ถ้าเทียบกับจำนวนเด็ก)
2. Shichida’s method มีเฉพาะโรงเรียนเอกชน ค่าใช้จ่ายสูง และอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำไมเด็กในเมืองใหญ่จึงฉลาดกว่าเด็กบ้านนอก
3. ผู้ปกครองให้นิยามคำว่า "เก่ง" แตกต่างกัน เพราะผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ. มักนิยามคำว่าเก่งของลูก คือ การสอบได้ที่ 1 ไม่ใช่มีพัฒนาการที่สมบูรณ์
4. การสอนแบบใดก็ตามที่เป็นการสอนที่เป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก มักจะเกิดขึ้นในโรงเรียนทางเลือกเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นโรงเรียนเอกชน
5. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่านี้ การทุ่มทุนสร้างคน แม้ต้องใช้ระยะเวลานาน แต่สิ่งที่ได้มาคุ้มค่ายิ่งนัก และประเทศไทยใช่ว่าจะเป็นประเทศยากจน เพราะสังเกตจากมูลค่าของการคอรัปชั่นมีสูงกว่าแสนล้านบาท ถ้าเทียบเป็นปริมาณก็สร้างโรงเรียนเพิ่มได้อีกเพียบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น